214/10 ถนนมหายศ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน 55000
โทร. 054-710-234   E-mail : saraban-nancity@lgo.mail.go.th
ปรับขนาดตัวอักษร
โหมดการเข้าถึงสำหรับผู้พิการ
ภาษา
10 ที่เที่ยวสุดฮิต

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

23 กรกฎาคม 2567
ยังไม่มีผู้ให้คะแนน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำจังหวัดน่าน ตั้งอยู่ในบริเวณคุ้มของอดีตเจ้าผู้ครองนครน่าน ถนนผากอง ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน มีพื้นที่ทั้งสิ้น 14 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา รายล้อมด้วยถนนที่สำคัญได้แก่ ถนนผากองด้านทิศตะวันออก ถนนสุริยพงษ์ด้านทิศใต้ และถนนมหาพรหมด้านทิศเหนือ อาคารพิพิธภัณฑ์เดิมเป็นหอคำที่พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้าน่านทรงสร้างขึ้นเป็นที่ประทับ เมื่อพุทธศักราช 2446 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น แบบตรีมุขหรือรูปตัวที รูปแบบผสมผสานระหว่างแบบศิลปะตะวันตกและศิลปะไทย โครงสร้างภายในเป็นไม้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีมุขออกด้านหน้า หลังคามุงด้วยไม้แป้นเกล็ด เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงพิราลัย เจ้านายบุตรหลานของเจ้าผู้ครองนครน่านจึงไม้มอบหอคำหลังนี้พร้อมที่ดินทั้งหมดให้แก่รัฐบาล เพื่อใช้เป็นศาลากลางจังหวัดน่าน ปีพุทธศักราช 2475 ต่อมาเมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ก่อสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นใหม่ กรมศิลปากรจึงได้ขอรับมอบอาคารหอคำ เพื่อให้เป็นสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ขึ้นในปีพุทธศักราช 2517 และประกาศจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ขึ้นในปีพุทธศักราช 2528 อย่างเป็นทางการ ภายหลังการจัดแสดงเสร็จสมบูรณ์แล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ให้ประชาชนเข้าชมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พุทธศักราช 2530

ภายในแบ่งส่วนการจัดแสดงเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นบน จัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องโบราณคดีและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1.ห้องโถงใหญ่ เคยเป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกว่าราชการของเจ้าผู้ครองนคร จัดแสดงข้อมูลทางภูมิรัฐศาสตร์ของจังหวัดน่าน การสร้างบ้านแปงเมือง หลักฐานศิลาจารึก ลำดับเชื้อสายของเจ้าผู้ครองนคร เครื่องใช้ส่วนพระองค์ ภาพถ่ายโบราณ เงินตราและอาวุธ 

2.ห้องปีกอาคารและเฉลียง จัดแสดงเรื่องราวด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่ปรากฎร่องรอยหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ในพื้นที่จังหวัดน่าน แหล่งโบราณคดีและโบราณวัตถุจากการขุดค้นในพื้นที่เก็บกักน้ำบริเวณเหนือเขื่อนสิริกิติ์ เครื่องถ้วยจากแหล่งเตาเผาในจังหวัดน่าน ศิลปะสุโขทัยและศิลปะล้านนาที่ก่อให้เกิดแนวคิดงานศิลปกรรมสกุลช่างเมืองน่าน

3.ห้องจัดแสดงงาช้างดำ ซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าคู่บ้านคู่เมืองน่านมาแต่โบราณ

ชั้นล่าง แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ห้องโถง จัดแสดงเรื่องราวด้านชาติพันธุ์วิทยา เกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของภาคเหนือ มีการจำลองลักษณะบ้านเรือน ร้านน้ำ ห้องนอน ครัวไฟ เครื่องใช้ชีวิตประจำวัน การทอผ้าและตัวอย่างผ้าพื้นเมืองน่านแบบต่างๆ รวมถึงเรื่องประเพณีความเชื่อ การแข่งเรือยาว และงานสงกรานต์ เป็นต้น

2.เฉลียงด้านหลังและปีกอาคาร จัดแสดงเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของเผ่าชนต่างๆ ในจังหวัดน่าน อาทิ ไทลื้อ แม้ว เย้า ชนเผ่าตองเหลือง สุดท้ายเป็นห้องที่ระลึกและห้องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติชาวจังหวัดน่าน

แสดงความคิดเห็น
10 ที่เที่ยวสุดฮิต อื่นๆ