วัดมิ่งเมือง ตั้งอยู่ที่ถนนสุริยพงศ์ เป็น เป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองของจังหวัดน่าน ประวัติของวัดมิ่งเมือง คือ เดิมเป็นวัดร้าง มีเสาหลักเมืองที่เป็นท่อนซุงขนาดใหญ่สองคนโอบ พบที่ซากวิหาร ในราวปี 2400 เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าครองนครน่านสถาปนาวัดใหม่ ตั้งชื่อว่า วัดมิ่งเมือง ตามชื่อที่เรียกเสาหลักเมืองว่า เสามิ่งเมือง ต่อมาปี 2527 พระครูสิริธรรมภาณี (เสน่ห์ ฐานสิริ) เจ้าอาวาสวัดมิ่งเมืองทำการรื้อถอนอุโบสถหลังเดิมทั้งหลัง เนื่องจากชำรุดทรุดโทรมมาก โดยออกแบบให้เป็นอุโบสถแบบล้านนาร่วมสมัย การก่อสร้างตัวอาคารเป็นฝืมือของช่างพื้นบ้านเมืองน่าน งานลวดลายปูนปั้นเป็นฝีมือช่างจากเชียงแสน โดยมีนายเสาร์แก้ว เลาดี เป็นช่างใหญ่ที่ทำการปั้นและออกแบบลวดลายปูนปั้นทั้งหมดภายในอุโบสถได้ทำการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยคุณสุรเดช กาละเสน (จิตรกรพรสวรรค์พื้นบ้านเมืองน่าน) โดยเขียนแบบอนุรักษณ์ภาพโบราณ เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองน่าน เริ่มตั้งแต่สมัยพญาภูคาเจ้าเมืองน่านองค์ปฐมตั้งอยู่เมือง ณ เมืองย่าง (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอปัว) มาจนถึงสมัยเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย
วัดมิ่งเมือง ยังเป็นที่ประดิษฐานเสาพระหลักเมืองน่าน คนเมืองน่านในสมัยโบราณเรียกขานว่า "เสามิ่งเมือง" หรือ "เสามิ่ง" โดยสมเด็จเจ้าฟ้าอัตถะวรปัญโญ เจ้าผู้ครองเมืองน่านองค์ที่ 57 โปรดให้ฝังเสาประหลักเมืองน่านลง ณ จุดนี้ เมื่อปีพุทธศักราช 2331 หลังจากที่พระองค์ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชการที่ 1 ณ กรุงเทพฯ และร่วมพระราชทานพิธีฝังเสาพระหลักเมือง กรุงเทพมหานคร เมื่อปีพุทธศักราช 2129 พระองค์จึงได้คตินั้นมาฝังเสาพระหลักเมืองน่านขึ้น
ปีพุทธศักราช 2506 ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ น้ำในแม่น้ำน่านได้ทะลักเข้าท่วมตัวเมืองน่านอย่างรุนแรง กระแสน้ำได้เซาะรากโคนเสาพระหลักเมืองซึ่งผุกร่อนมาก เพราะฝังดินมาเป็นเวลานานกว่า 170 ปี จนถอนโค่นลง เจ้าอาวาสจึงได้นำเสาไปผูกมัดไว้ใต้ถุนหอกลองหลังวัด เมื่อน้ำลดเป็นปกติแล้ว เจ้าอาวาสจึงได้พร้อมกับคณะศรัทธาวัดมิ่งเมืองแห่งนี้ ร่วมกันสร้างเสาพระหลักเมืองจำลองขึ้น ณ ที่เดิม โดยทำเป็นเสาก่อด้วยอิฐถือปูน ก่อฐาน 4 เหลี่ยมลดหลั่นเป็นชั้น ตัวเสาสูงประมาณ 1 เมตรครึ่ง ฐานสูงประมาณ 1 เมตรเศษ ทาด้วยปูนขาว เสาพระหลักเมือง ซึ่งอยู่ในศาลาจตุรมุข ด้านหน้าพระอุโบสถ เสาหลักเมืองสูงประมาณ 3 เมตร ฐานประดับด้วยไม้แกะลวดลายลงรักปิดทอง ยอดเสาแกะสลัก เป็นรูปพรหมพักตร์มีชื่อ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนเมืองน่าน ควรมีโอกาสได้สักการะเสาพระหลักเมื่องน่าน ในการสักการะเสาพระหลักเมืองน่านนั้น ให้ทำการสักการะให้ครบทั้งสี่ทิศ เพราะในแต่ละทิศนั้นจะมีความมงคลตามความหมายของทิศนั้น โดยเริ่มจาก ทิศเหนือ ทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตกหลังจากนั้นแล้วจึงเดินชมความงดงามอุโบสถล้านนาของวัดมิ่งเมือง ที่ทำให้คนน่านได้ภาคภูมิใจว่า ช่างสล่าน่าน เก่งไม่แพ้ใครในล้านนา