ตึกรังษีเกษมสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2458(ค.ศ.1915) โดยคณะมิชชันนารี นำโดย ดร. นพ.ซามูเอล ซี พีเพิลส์, ดร.ฮิวส์ เทเลอร์, ศาสนาจารย์ แมเรียน บี ปาล์เมอร์ และ นางสาว ลูซี่ สตาร์ลิง สร้างแล้วเสร็จในปี 2459 ตึกหลังนี้ดัดแปลงแบบมาจากอาคารเรียนตึกลินกัล์น(น่านลินกัล์นอะแคเดมี)ซึ่งเป็นโรงเรียนชายแห่งแรกของจังหวัดน่าน ส่วนตึกรังษีเกษมเป็นโรงเรียนหญิงแห่งแรกของจังหวัดน่าน ทั้งสองถือเป็นตึกแบบตะวันตกยุคแรกๆของน่านเดิมโรงเรียนหญิงแห่งนี้มีชื่อว่า “เมริเอสมิทบราวส์” ต่อมาในปี 2451 จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช(พระโอรสองค์ที่ 4 ในรัชกาลที่ 4 พระอนุชาของรัชกาลที่ 5) ได้พระราชทานนามของโรงเรียนให้ใหม่ว่า “โรงเรียนรังษีเกษม” เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมชมกิจการของศูนย์มิชชั่นน่าน โรงเรียนรังษีเกษมแรกเริ่มมีเพียงอาคารใหญ่หลังกลางเท่านั้น ต่อมาได้มีการสร้างอาคารฝั่งซ้ายขึ้นเพื่อใช้เป็นห้องพักมิชชันนารีและหอพักนักเรียน(2451-2452) และสร้างส่วนฝั่งขวาขึ้นใช้เป็นห้องเรียนเพิ่มเติมเพื่อให้พอเพียงต่อจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นตึกรังษีเกษมเป็นสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลที่มีการปรับแบบบางส่วนให้เข้ากับสภาพอากาศเมืองร้อนของไทย เป็นอาคารรูปตัวยู 2 ชั้น พื้นเพดานสร้างด้วยไม้ หลังคาเดิมเป็นกระเบื้องดินขอ แต่ได้เคยถูกพายุใหญ่พัดกระเบื้องดินขอพังเสียหาย ต่อมาในปี 2526 ได้มีการปรับเปลี่ยนหลังคาให้เป็นสังกะสีมาจนถึงปัจจุบัน ตึกรังษีเกษมได้ยืนหยัดผ่านร้อนผ่านหนาวเคียงคู่เมืองน่านมาอย่างยาวนานกว่า 100 ปี ผ่านการบูรณะซ่อมแซม และปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยมาจนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งทางโรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษาได้มีการนำตึกหลังนี้มาปรับปรุงเป็นหอประวัติศาสตร์โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา ในปี 2554หอประวัติศาสตร์โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษาหรือตึกรังษีเกษม เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน ผ่านพยานวัตถุที่จัดแสดงอันหลากหลาย อาทิ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้โบราณเก่าแก่ของคนน่าน วัตถุเครื่องใช้ของมิชชันนารี วัตถุเครื่องใช้ของโรงเรียนรังษีเกษม โรงเรียนน่านลินกัล์นอะแคเดมี และโรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา อีกทั้งยังมีผลงานภาพถ่ายในอดีตของเมืองน่านมากว่า 1,000 ภาพ ที่บอกเล่าเรื่องราวของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงงานในจังหวัดน่าน พระราชกรณียกิจของเจ้าผู้ครองนครน่าน พันธกิจของมิชชันนารีที่มีต่อคนเมืองน่าน ภาพของอาคาร สถานที่ เหตุการณ์สำคัญ ตลอดจนภาพวิถีชีวิตของคนเมืองน่านในอดีต